ยุคที่ทุกคนต้องหันมาดูแลใส่ใจสุขภาพและออกกำลังกายกันมากขึ้น สิ่งที่ควรทำควบคู่กัน คือ การสังเกตตัวเองและเลือกประเภทกีฬาให้เหมาะสมกับอายุ น้ำหนัก และยิ่งมีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์ก่อนออกกำลังกาย เพราะเมื่อเกิดอาการบาดเจ็บ บางอาการสามารถดูและรักษาได้ด้วยตนเอง หากมีอาการผิดปกติและสัญญาณบางประการที่เราควรรีบพบแพทย์
1. หน้าซีด หายใจไม่คงที่
ลักษณะอาการ : ชีพจรเต้นเร็ว หายใจถี่ มือเท้าเย็น รู้สึกเหมือนจะไม่ได้สติ บางรายอาจจะมีอาการเพ้อ มีอาการเซื่องซึมหรือกระวนกระวาย มีปัญหาด้านความจำและการคิด จดจำสิ่งต่าง ๆ ได้น้อยกว่าปกติ
สาเหตุ: อาจจะเกิดจากการขาดออกซิเจนของสมอง ขาดน้ำ ระบบเมตาบอลิซึมในร่างกายไม่สมดุล มีความผิดปกติเกี่ยวกับฮอร์โมนเป็นไข้ หรือติดเชื้อเฉียบพลัน นอนหลับไม่เพียงพอ หรือมีปัญหาสุขภาพจิต
2. กระดูกผิดรูป ข้อเคลื่อนหลุด หรือขยับบริเวณกระดูกหรือข้อต่อรู้สึกผิดปกติ
ลักษณะอาการ : รู้สึกปวดบริเวณกระดูกหรือข้อหลังจากอุบัติเหตุ มีอาการบวม ฟกช้ำ หรือผิดรูป เช่น ข้อศอก ข้อนิ้วมือเบี้ยวผิดปกติ ไม่สามารถเคลื่อนไหวกระดูกหรือข้อต่อนั้นได้หรือยืนลงน้ำหนักไม่ได้
สาเหตุ : ล้ม ถูกกระแทก ได้รับบาดเจ็บของกระดูกและข้อต่อลั่น เช่น ข้อเคล็ด ข้อเคลื่อน หรือกระดูกหัก ซึ่งความรุนแรงขึ้นอยู่กับลักษณะอาการบาดเจ็บ
3. ใจสั่น เจ็บหน้าอก หายใจติดขัดเหนื่อยหอบ
ลักษณะอาการ : รู้สึกเหนื่อยง่ายหรือมากกว่าปกติ อ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด หายใจไม่อิ่ม อาจจะรู้สึกใจสั่นหรือเจ็บหน้าอก
สาเหตุ : อาจเกิดจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
4. อาการอ่อนแรง กล้ามเนื้อเป็นอัมพาต ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้เหมือนปกติ หรือปวดเกร็ง
ลักษณะอาการ : เกร็งหรือกระตุกกล้ามเนื้อ ไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อให้เคลื่อนไหวหรือ ทำงานได้ตามปกติ ตัวอย่างอาการแขนขาอ่อนแรง เช่น ยกแขนไม่ขึ้น ขยับแขนไม่ได้ตามปกติ ไม่สามารถลุกนั่ง ยืนหรือเดินได้ ซึ่งอาการเกิดขึ้นหลังจากการออกกำลังกาย
สาเหตุ : อาจเป็นอาการบ่งชี้ของโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงบางชนิด หรือ ALS (Amyotrophic Lateral Sclerosis) หรือเกิดความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับสมอง เช่น เส้นเลือดสมองฝ่อหรือแตก โรคไขสันหลัง กระดูกต้นคอ และเส้นประสาทต่าง ๆ ที่ควบคุมกล้ามเนื้อ
5. มีความปวดเรื้อรังหรือมีอาการแย่ลง
ลักษณะอาการ : มีอาการปวดหลังจากได้รับบาดเจ็บมาสักระยะหนึ่ง ทั้งที่ได้รับหรือไม่ได้รับการรักษา มีอาการเป็นซ้ำหรือรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะเมื่อทำกิจกรรมแบบเดิม เช่น เจ็บข้อเท้าขณะวิ่ง เมื่อหยุดวิ่งก็หาย และมีอาการเมื่อกลับมาวิ่งอีก เป็นต้น
สาเหตุ : อาจเกิดจากอาการบาดเจ็บที่ได้รับการดูแลไม่ถูกต้องเหมาะสม หรือมีการบาดเจ็บที่ยังไม่ได้รับการรักษา จำเป็นต้องได้รับการตรวจและวินิจฉัย รวมถึงการรักษาที่ถูกวิธี
ก่อนที่จะออกกำลังกายควรให้ความสำคัญกับการเตรียมพร้อมของร่างกาย อย่าฝืนออกกำลังกายให้มากเกินกำลังของตนเอง